วิกฤติขยะเสื้อผ้าป่วนโลก เปลี่ยนแฟชั่นมาไวไปไวใช้ยั่งยืน

อื่นๆ
03/01/2567     |     อ่าน : 2211 ครั้ง

กระแสแฟชั่นที่เปลี่ยนไปเร็วนี้ทำให้อายุการใช้เสื้อผ้าสั้นลง และเกิดเป็นปัญหา "ขยะแฟชั่น" ล้นโลก ปัจจุบันแบรนด์เสื้อผ้าหลายแบรนด์ให้ความสำคัญกับ sustainable fashion และมีการขับเคลื่อนของหลายภาคส่วนเพื่อจัดการปัญหานี้

ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ให้ความเห็นกับสถานการณ์ภาวะโลกเดือดและเทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อมของวงการแฟชั่นว่า หลายปีมานี้ผู้บริโภคตระหนักเรื่อง Green Product โดยเฉพาะแฟชั่น อีกทั้งมีการประชุมในระดับนโยบายใหญ่ๆ โดยแวดวงแฟชั่นเองก็ตอบรับเรื่องนี้มาก ทำให้อุตสาหกรรมในตอนนี้ปรับเปลี่ยนไปสู่สิ่งทอยั่งยืนโดยที่มีความชัดเจนของตลาด ไม่ว่าจะเป็นตลาดญี่ปุ่น หรือยุโรปค่อนข้างมีศักยภาพผู้ผลิตสินค้าเชิงกรีนได้รับโอกาสมากขึ้นไม่ต้องแข่งขันด้านราคา ผู้ผลิตที่มีศักยภาพก็ไปต่อได้ ส่วนที่ยังไม่เข้าใจ Green movement ต้องปรับตัว โดยถ้าไม่ปรับตัวก็ต้องแข่งด้านราคา ซึ่งขณะนี้ตลาดที่แข่งทางด้านราคามีความรุนแรง ส่วนในด้านความยั่งยืนคงไม่ใช่ใครคนหนึ่ง ทำงานร่วมกันนับแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ

ดร.ชาญชัย อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า เทรนด์สิ่งทอยั่งยืนและดิจิทัลไรซ์เซชันเป็นอีกเรื่องหลักที่อุตสาหกรรมสิ่งทอต้องปรับตัว อีกทั้งปัจจุบันในเรื่อง Soft Power ก็น่าจะมีปัจจัยบวก เป็นโอกาสให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอ และสำหรับ Fast Fashion ที่กล่าวถึงกันมานาน ช่วงประมาณ 10 ปีมานี้สร้างขยะแฟชั่นขึ้นมาค่อนข้างเยอะ เป็นภาพลบการปล่อยก๊าซคาร์บอนซึ่งส่งผลกระทบต่อโลก

 ดร.ชาญชัย ให้มุมมองว่า การมีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืน คงต้องมองที่พฤติกรรมการใช้ ทั้งนี้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญ ให้ความรู้กับผู้บริโภค ผู้ผลิตต้องมีความโปร่งใส การผลิตเป็นอย่างไร สื่อสารแสดงข้อมูลนี้ให้กับผู้บริโภค โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์สินค้าได้ ทำให้สินค้าไม่ต้องแข่งขันกับราคา สถาบันฯเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และหากทุกภาคส่วนช่วยกัน อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยจะเติบโตขึ้นทั้งในแง่ความยั่งยืน ความน่าเชื่อถือในความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยไม่ต้องมุ่งแข่งแต่ด้านราคา

ดร.ชาญชัย ระบุอีกว่า ตลาดในประเทศควรต้องส่งเสริมให้มีความแข็งแกร่ง จะเห็นว่าสินค้าราคาถูกผ่านเข้ามาในหลายช่องทางในปัจจุบัน การที่ไม่ป้องกันตลาดในประเทศจะกลายเป็นการเปิดให้สินค้าราคาถูกไหลเข้ามาโดยไม่มีกำแพง ตลาดในประเทศเป็นตลาดที่สำคัญภาครัฐควรมีมาตรการป้องกันตลาดในประเทศ เช่น มาตรฐานทดสอบสินค้านำเข้า มองว่าหลายประเทศปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นรอบด้านในภูมิภาคอาเซียน โดยส่วนนี้จะเชื่อมโยงถึงความปลอดภัย เป็นการป้องกันให้กับผู้บริโภค


อีกทั้ง ส่งเสริมการใช้สินค้าในประเทศ ทั้งนี้สถาบันฯมีฉลากคุณภาพสิ่งทอไทย (Thailand Textile Tag) โดยจะติดแท็กให้กับสินค้าไทยที่ได้คุณภาพ นอกจากส่งเสริมสินค้าในประเทศ ช่วยให้ผู้ผลิตไทยมีกำลังใจผลิต ยังช่วยให้ผู้ผลิตในประเทศไม่เสียเปรียบกับสินค้าราคาถูก

ในด้านการผลิต ปัจจุบันเรามีดีไซเนอร์ชั้นนำใน supply chain แต่อาจขาดการเชื่อมโยง ซึ่งคงต้องหันมาทำงานร่วมกัน โดยถ้าตลาดสินค้าในบ้านเราได้รับการส่งเสริมก็จะมีความแข็งแกร่ง ยั่งยืน สามารถแข่งขันในระดับเวทีโลกได้ และนอกจากผู้ผลิต ผู้บริโภค เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญ ซึ่งโดยหลักคือ พฤติกรรมการใช้ ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ คงทน ใช้งานได้นาน ไม่มองแค่เพียงราคาถูกอย่างเดียว ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาขยะแฟชั่น


การเลือกซื้อสินค้าควรต้องศึกษาที่มาที่ไป อย่างเช่น วิธีการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วัสดุรีไซเคิลหรือเส้นใยที่ช่วยลดโลกร้อน ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันมีนวัตกรรม มีการรีไซเคิลวัสดุ รวมถึงภูมิปัญญาไทยในเรื่องของธรรมชาติค่อนข้างมาก สามารถพัฒนาไปในแนวทางสิ่งทอสีเขียวได้ การส่งเสริมสร้างนวัตกรรมสีเขียวเพิ่มขึ้น การผลิตภัณฑ์สินค้าที่เกิดขึ้นก็จะเป็น ความยั่งยืน เกิดเท็กซ์ไทล์แฟชั่นเซฟโลก

ทางด้าน เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ Social Activist Artist ศิลปินหญิงผู้เปลี่ยนวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ ชวนลดขยะด้วยความคิดสร้างสรรค์โดยที่ผ่านมาศิลปินใช้เศษวัสดุไปกว่า 40 ประเภท ดีไซน์ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ สร้างงานศิลปะ ชวนตระหนักปัญหาสิ่งแวดล้อม อาทิ นิทรรศการ Fast Fashion ช้อปล้างโลก ที่มิวเซียมสยาม นำขยะเสื้อผ้ากองโตจัดวางอาร์ตอินสตอเรชัน การรักษ์โลกไม่ใช่แค่การบริจาค ชวน rethink คิดกลับไปนับแต่ต้นทาง มีสติในการใช้ การทำ หรือหลากหลายผลงาน

โปรดักต์ดีไซน์ งานศิลปะอื่น ๆ ใช้เศษผ้า เสื้อยูนิฟอร์มนำกลับมาอัปไซเคิลสร้างกระเป๋าใบใหม่ เพิ่มมูลค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

จากประเด็นนี้ ศิลปินให้มุมมองเพิ่มว่า แฟชั่นเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับอุตสาหกรรมสิ่งทอ ประเด็นสิ่งแวดล้อมมีหลายมิติและแฟชั่นก็เป็นส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ การผลิตเสื้อผ้าแต่ละปีปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อย นับแต่ต้นทางการผลิต การย้อมสีต่าง ๆ หรือแม้แต่ค่าแรงการผลิต ก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง ความยั่งยืนจึงไม่ใช่มองแค่สิ่งแวดล้อมหรือปัญหาขยะ ยังมีมุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง

“เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเป็นหนึ่งในสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเชิงแฟชั่น ความตื่นตัวในเรื่องนี้มีเพิ่มขึ้น ทั้งผู้ผลิต แบรนด์ต่าง ๆ ขยับเข้าสู่สนามสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ผู้ผลิต หรือใครก็ตามที่กำลังทำฟาสต์แฟชั่นอาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการ เช่น เหลือเศษวัสดุให้น้อยลง ดีไซน์อย่างไร ให้ผ้าหนึ่งผืนสามารถนำไปใช้งานได้ครบทุกส่วน หรือหลังออกแบบตัดเย็บไปแล้วมีขั้นตอนหรือวิธีการจัดการต่ออย่างไร”

ปัจจุบันมีหลายแบรนด์ผลิตสินค้าออกมาแล้วมีบริการซ่อมแซมเสื้อผ้าเก่า เริ่มมีช็อปของการรีแพร์เกิดขึ้น ทั้งเริ่มมีผู้ประกอบการที่สนใจทำเสื้อผ้ารีไซเคิลมากขึ้น อาทิ นำเสื้อผ้ามือสองมาปั่นเส้นด้ายใหม่ขึ้นมา หรือเกิดผู้ประกอบการใหม่ ๆ ที่ใช้วัสดุที่เป็นของเหลือจากอุตสาหกรรมแฟชั่น นำมาทำกระเป๋า เฟอร์นิเจอร์ หรือเสื้อผ้าชุดใหม่ ใช้ประโยชน์คุ้มค่าเพิ่มขึ้น

ทุกคนสามารถมิกซ์แอนด์แมตช์ หรือ DIY เสื้อผ้าของตัวเองได้ เป็นอีกส่วนหนึ่งร่วมสร้างความยั่งยืน ไม่เพิ่มขยะเสื้อผ้า ปัจจุบันมีหลายช่องทางให้ความรู้ อย่าง DIY มีคลิปต่าง ๆ ในช่องทางออนไลน์ที่ทำได้เองไม่ยุ่งยาก หรือการเปิดลุคบุ๊ก รวมถึง มีสติก่อนซื้อ ก่อนใช้ มองถึงความจำเป็น ขณะเดียวกันภาครัฐต้องร่วมสนับสนุน ทั้งราคาสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ค่าแรง ค่าครองชีพ ราคาสินค้าอยู่ในจุดที่สามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่ม ทั้งนี้เชื่อว่าทุกคนอยากร่วมลดโลกร้อน ความยั่งยืนในที่นี้จึงต้องตอบโจทย์หลาย ๆ มิติ ไม่ใช่แค่ทำสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแต่ต้องมีความบาลานซ์

ศิลปินให้มุมมองทิ้งท้ายอีกว่า การรักษ์โลกทุกคนมีส่วนร่วมได้ โดยหากมีความถนัดสิ่งไหนก็ทำสิ่งนั้น ต้องเริ่มและอย่ามองเป็นเรื่องไกลตัว อย่างเช่น การปิดน้ำ ปิดไฟที่ไม่ใช้ การทานอาหารหมดจานไม่เหลือทิ้ง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สิ่งของทุกสิ่งอย่างด้วยสติ ฯลฯ ก็ล้วนแต่มีส่วนช่วยโลก เซฟโลก สร้างสมดุลเกิดอย่างยั่งยืน

สถิติขยะแฟชั่น
- อุตสาหกรรมแฟชั่น และสิ่งทอ ปลดปล่อยคาร์บอน 2-8% ของทั้งโลก คาดการณ์ว่าการปลดปล่อยคาร์บอนจะเพิ่มขึ้น 50% ในปี 2573 หากธุรกิจสิ่งทอและแฟชั่นยังดำเนินไปตามปกติ โดยไม่มีมาตรการใดเพื่อจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น

- การผลิตสิ่งทอและแฟชั่นของโลกเพิ่มเป็น 2 เท่าในช่วงระหว่างปี 2543–2558

- อายุการใช้งานของเสื้อผ้าลดลงประมาณ 36% ในช่วง 15 ปี (ระหว่าง 2546–2561) พบว่าพฤติกรรมการใช้เสื้อผ้าบางชุด ใส่เพียง 7-10 ครั้ง

- อุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นปล่อยน้ำเสีย 20% ของน้ำเสียทั้งโลก โดยมาจากกระบวนการฟอกย้อมและตกแต่งสำเร็จเป็นหลัก (ปี 2560 )

- เสื้อยืด (t-shirt) ผ้าฝ้าย 1 ตัวจะใช้น้ำในการผลิตตั้งแต่ปลูกจนผลิตเป็นเสื้อประมาณ 2,700 ลิตร เทียบเท่ากับน้ำดื่ม สำหรับ 1 คนดื่มได้ถึง 900 วันหรือประมาณ 2 ปีครึ่ง (ปี 2560)

สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/3044285/

ข่าวสารความเคลื่อนไหว
เครือข่าย IWIN เปิดตัวโครงการ Circular Upholstery Textile เป้าหมายเพื่อเปลี่ยนเส้นทางของเสียจากหลุมฝังกลบกลับมาใช้ใหม่และการรีไซเคิล
Le Casino เปลี่ยนขยะเป็นโอกาสกับเส้นทางเดินของรองเท้ารักษ์โลก
ญี่ปุ่นตั้งเป้าขยายธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียน
ยุทธศาสตร์ใหม่ของสหภาพยุโรปสำหรับสิ่งทอที่ยั่งยืนและสิ่งทอหมุนเวียน
COP27 เริ่มแล้ว ประเด็นร้อนการหารือเรื่องการให้ชาติร่ำรวยต้องชดเชยให้กับชาติยากจนที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน
Marimekko นำร่องโครงการ Closed Loop โดยใช้วัสดุเหลือใช้
นวัตกรรมเส้นใยจากใบอ้อยสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตรสู่ผลิตภัณฑ์แฟชั่นจากธรรมชาติ