‘ฟาสต์เฟอร์นิเจอร์’ ทำขยะพุ่ง รีไซเคิลไม่ได้ฝังกลบ - เผาทิ้งอย่างเดียว

อื่นๆ
29/10/2567     |     อ่าน : 63 ครั้ง

ที่มา : https://www.euronews.com

“ฟาสต์เดโค” (Fast Deco) เป็นชื่อเรียกเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้านราคาถูก ที่ถูกผลิตเลียนแบบเฟอร์นิเจอร์ราคาแพงเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่น และถูกแทนที่ด้วยคอลเลกชั่นใหม่ๆ ในเวลาอันรวดเร็ว

จากรายงานล่าสุดของสมาคมสิ่งแวดล้อมของฝรั่งเศสระบุว่า อุตสาหกรรมฟาสต์เฟอร์นิเจอร์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น โดยรูปแบบธุรกิจนี้มักจะเป็นแบรนด์สินค้าแฟชั่นที่แตกแบรนด์ออกมาทำสินค้าตกแต่งบ้าน เช่น Zara Home, H&M HOME และ Shein 

ผู้ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ก็มีบทบาทเช่นกัน โดยใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นความต้องการ และเพิ่มยอดขาย มีการนำเสนอสินค้าใหม่ 2,000 - 3,000 รายการต่อปี นอกจากนี้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ช ก็เป็นอีกหนึ่งตัวกระตุ้นอารมณ์ให้เกิดการซื้อของได้ตลอด 24 ชั่วโมง  มีการใช้ประโยชน์จากพลังโซเชียลมีเดีย และอินฟลูเอนเซอร์ด้วยคลิปวิดีโอประเภทแกะกล่อง รีวิว และพาชอปปิ้ง เพื่อกระตุ้นให้คนอยากได้สินค้า ขณะเดียวกันแบรนด์ก็จัดใช้วันหยุด และเทศกาลต่างๆ เช่น วันวาเลนไทน์ และวันแม่ ออกคอลเลกชั่นใหม่ๆ หรือจัดโปรโมชันกระตุ้นยอดขาย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อของแบบไม่ได้วางแผนไว้ก่อน (Impulsive Buying) ที่เน้นอารมณ์ และความต้องการชั่วครู่ จนกลายเป็นการบริโภคที่มากเกินไป

“ขยะเฟอร์นิเจอร์” เพิ่มขึ้น เพราะ “ฟาสต์เดโค” ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผู้คนต่างอยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ทำให้มีเวลาตกแต่งบ้านใหม่อีกทั้งการตกแต่งบ้านใหม่ยังช่วยสร้างบรรยากาศใหม่ๆ และเป็นการบำบัดจิตใจ ปรับตัวในช่วงการกักตัวผลักดันให้ตลาดฟาสต์เดโคเติบโตขึ้น ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Les Échos หนังสือพิมพ์การเงินของฝรั่งเศส แสดงให้เห็นว่าระหว่างปี 2017-2022 จำนวนสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่วางจำหน่ายในฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นถึง 88% ทำให้ตลาดมีมูลค่าประมาณ 26,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 953,109 ล้านบาท

การตกแต่งบ้านใหม่กลายเป็น “นิวนอร์มอล” มาจนถึงปัจจุบัน  โดยระหว่างปี 2014-2020 ขยะเฟอร์นิเจอร์ในฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า จาก 270 ล้านชิ้น กลายเป็นมากกว่า 500 ล้านชิ้น ปกติแล้วเฟอร์นิเจอร์มีอายุการใช้งานที่ยาวนานอยู่ได้หลายสิบปี แต่ในขณะนี้เฟอร์นิเจอร์เริ่มมีอายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 5 ปี มาพร้อมกับการรีไซเคิลที่ยากกว่าเดิม เพราะในตอนนี้ของตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์มักทำจากวัสดุผสม ทำให้การรีไซเคิลมีความซับซ้อน และมีค่าใช้จ่ายสูง ส่งผลให้สินค้าจำนวนมากเหล่านี้ลงเอยในหลุมฝังกลบทำให้วิกฤติขยะทวีความรุนแรงขึ้น

ในปี 2023 องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมรวบรวมขยะเฟอร์นิเจอร์ได้ 1.3 ล้านตัน เฉลี่ยคิดเป็นคนฝรั่งเศสสร้างขยะประมาณ 18.7 กิโลกรัมต่อคน เกือบครึ่งหนึ่งเป็นขยะที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ไม่สามารถรีไซเคิลหรือซ่อมแซมได้ และถูกเผาในเตาเผาขยะหรือฝังกลบ แม้จะมีการซื้อเฟอร์นิเจอร์เพิ่มมากขึ้น แต่ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของฝรั่งเศสกลับไม่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตนี้ เพราะผู้ผลิตรายย่อยไม่สามารถแข่งขันด้านราคา และปริมาณได้ ทำให้ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา มีตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมนี้ลดลงถึง 25%

นอกจากนี้ฟาสต์เดโคยังทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าจำนวนมากรวมไปถึงพื้นที่ป่าดิบ เพื่อนำมาผลิตเฟอร์นิเจอร์ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างร้ายแรง มีส่วนทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และทำลายระบบนิเวศ ปิแอร์ คอนดามายน์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์การผลิตเกินจำเป็นของ Friends of the Earth France ได้เรียกร้องให้ควบคุมการผลิต เพื่อจำกัดการใช้ทรัพยากรที่มากเกินไป 

อ้างอิง : https://www.bangkokbiznews.com/environment/1148631

ข่าวสารความเคลื่อนไหว
เครือข่าย IWIN เปิดตัวโครงการ Circular Upholstery Textile เป้าหมายเพื่อเปลี่ยนเส้นทางของเสียจากหลุมฝังกลบกลับมาใช้ใหม่และการรีไซเคิล
Le Casino เปลี่ยนขยะเป็นโอกาสกับเส้นทางเดินของรองเท้ารักษ์โลก
ญี่ปุ่นตั้งเป้าขยายธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียน
ยุทธศาสตร์ใหม่ของสหภาพยุโรปสำหรับสิ่งทอที่ยั่งยืนและสิ่งทอหมุนเวียน
COP27 เริ่มแล้ว ประเด็นร้อนการหารือเรื่องการให้ชาติร่ำรวยต้องชดเชยให้กับชาติยากจนที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน
Marimekko นำร่องโครงการ Closed Loop โดยใช้วัสดุเหลือใช้
นวัตกรรมเส้นใยจากใบอ้อยสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตรสู่ผลิตภัณฑ์แฟชั่นจากธรรมชาติ