เครื่องหมายอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ UPCYCLE CARBON FOOTPRINT

มาตรฐาน
26/10/2565     |     อ่าน : 628 ครั้ง

เครื่องหมายอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ UPCYCLE CARBON FOOTPRINT

เครื่องหมายอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ UPCYCLE CARBON FOOTPRINT

เครื่องหมายอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ถูกพัฒนาภายใต้การทำงานของคณะกรรมการเทคนิคและการพิจารณาอนุมัติการดำเนินการระบบรับรองอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากคณะกรรมการกำกับดูแลระบบ ซึ่งระบบรับรองนี้ได้ผ่านความคิดเห็นร่างหลักเกณฑ์ฯจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยได้มีการลงนามความเข้าใจร่วมกันระหว่าง 4 หน่วยงาน ได้แก่ 
1) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม 
2) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
3) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ 
4) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  
ฉลากนี้จะให้การรับรองผลิตภัณฑ์ที่มีการนำของเสียมาพัฒนาเป็นวัสดุใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าด้วยการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการจัดการของเสียด้วยการลดการเกิดของเสียที่แหล่งกำเนิด การนำมาใช้ซ้ำ และการนำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการของเสีย ตลอดจน การส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ และเป็นเครื่องมือทางการตลาดในการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อและผู้บริโภควัสดุหรือผลิตภัณฑ์อัพไซเคิล โดยคาดหวังว่าฉลากอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ จะช่วยยกระดับการออกแบบเชิงสร้างสรรค์วัสดุหรือผลิตภัณฑ์อัพไซเคิลให้มีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น กระตุ้นการสร้างนวัตกรรม ส่งเสริมตลาดสีเขียว เพื่อนำไปสู่การผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืนสู่สังคมคาร์บอนต่ำต่อไป

ข้อกำหนดของระบบรับรองและฉลากอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ มี 5 ข้อ ดังนี้

1. การใช้เศษวัสดุ ต้องมีสัดส่วนเศษวัสดุต่อชิ้นงาน อย่างน้อยร้อยละ 20 โดยน้ำหนักของวัสดุ หรือผลิตภัณฑ์อัพไซเคิล และต้องสามารถระบุแหล่งที่มาของเศษวัสดุว่ามาจากภาคการบริโภค ภาคการผลิต และบริการ หรือ จากการใช้งานชั่วคราว โดยมีการขนส่งที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและก๊าซเรือนกระจก การจัดเตรียมเศษวัสดุ ต้องเลือกใช้วิธีการจัดเตรียมเศษวัสดุที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและก๊าซเรือนกระจกด้วย
2. กระบวนการอัพไซเคิล ต้องเลือกใช้เทคโนโลยีและกระบวนการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและก๊าซเรือนกระจก ต้องมีมาตรการต่างๆ ดังนี้
1) มาตรการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยมีการจัดการสารเคมี พลังงาน มลพิษ และของเสียที่เหมาะสม
2) มาตรการความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน
3) มาตรการจ้างงาน โดยมีการว่าจ้างผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้พ้นจากการถูกคุมขัง ผู้ด้อยโอกาส หรือ แรงงานในชุมชน
4) มาตรการพัฒนาบุคลากรด้านการจัดการเศษวัสดุหรือการออกแบบ โดยการส่ง พนักงานเข้าร่วมอบรม สัมมนา หรือดูงาน
3. คุณภาพ วัสดุหรือผลิตภัณฑ์อัพไซเคิล ต้องมีคุณภาพเทียบเท่าหรือดีกว่าเดิม เหมาะสมต่อการใช้งาน โดยมีการควบคุมคุณภาพเพื่อให้มั่นใจว่าคุณภาพของวัสดุและผลิตภัณฑ์เป็นไป ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ หรือ ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (หากมี)
4. การออกแบบเชิงสร้างสรรค์ วัสดุหรือผลิตภัณฑ์อัพไซเคิล ต้องพัฒนาโดยใช้การออกแบบเชิงสร้างสรรค์ สร้าง คุณลักษณะที่แปลกใหม่ เพื่อนำเสนอจุดเด่นของวัสดุและผลิตภัณฑ์ด้วยการออกแบบ ที่ผนวกความสวยงาม
5. คาร์บอนฟุตพริ้นท์ วัสดุหรือผลิตภัณฑ์อัพไซเคิล ต้องมีค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่หลีกเลี่ยงได้ (จาก ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่หลีกเลี่ยงได้จากการฝังกลบเศษวัสดุที่ใช้ในวัสดุหรือ ผลิตภัณฑ์อัพไซเคิล รวมกับ ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่หลีกเลี่ยงได้จากการผลิต วัสดุใหม่หากไม่นำเศษวัสดุมาใช้ในวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ อัพไซเคิล) มากกว่า ค่าการ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากวัสดุหรือผลิตภัณฑ์อัพไซเคิลตลอดวัฏจักรชีวิต

สามารถติดแสดงเครื่องหมายอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยจะมีการแจ้งเตือนให้ดำเนินการต่ออายุฉลากล่วงหน้า 5 เดือนก่อนวันหมด อายุฉลาก และ อนุญาตให้ติดแสดงเครื่องหมายอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์หลัง วันหมดอายุฉลากได้เพียง 3 เดือน

ที่มา : https://datacenter.deqp.go.th/service-portal/g-green/upcyclecarbonfootprint/overview-of-upcycle-carbon-footprint/


ดาวน์โหลด upcycle CFP Bochure (ไทย).pdf
ดาวน์โหลด ข้อกำหนด upcycle CFP.pdf
ดาวน์โหลด upcyclecf_user-manual_final.pdf