Moreloop แพลตฟอร์มรักษ์โลก สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้า dead stock

Business Model
21/10/2565     |     อ่าน : 887 ครั้ง

Moreloop สามารถระบายผ้า dead stock ได้ 600 กิโลกรัมในปี 2561 และเพิ่มแบบก้าวกระโดดในปี 2562 สามารถระบายได้ถึง 10,000 กิโลกรัม โดยมีเป้าหมายจะลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 1 ล้านกิโลคาร์บอนใน 5 ปี

Moreloop สามารถระบายผ้า dead stock ได้ 600 กิโลกรัมในปี 2561 และเพิ่มแบบก้าวกระโดดในปี 2562 สามารถระบายได้ถึง 10,000 กิโลกรัม โดยมีเป้าหมายจะลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 1 ล้านกิโลคาร์บอนใน 5 ปี

Moreloop ก่อตั้งขึ้นในปี 2560 จาก 2 ผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ คือ “คุณธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์” ทายาทรุ่นที่ 2 ของโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปแห่งหนึ่ง และ “คุณอมรพล หุวะนันทน์” อดีตนายธนาคารนักวิเคราะห์ด้านการเงินที่ฝันอยากทำธุรกิจเป็นของตัวเองบนแนวทางรักษ์โลก

โดย Moreloop มีการทำตลาดใน 2 รูปแบบ คือ Fabric Selection เป็นตลาดผ้าออนไลน์สำหรับลูกค้าทั่วไปที่ต้องการใช้ผ้าจำนวนไม่มาก และ Moreloop Upcycle เป็นการผลิตสินค้าตามการสั่งซื้อของลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าองค์กร โดยใช้ผ้า Dead Stock ที่มีอยู่ในดาต้าเบสจากเครือข่ายโรงงานกว่า 60 แห่ง

 คุณธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ และ คุณอมรพล หุวะนันทน์ ผู้ก่อตั้ง Moreloop ภาพ : https://adaybulletin.com/talk-guest-moreloop/40167

คุณอมรพล หุวะนันทน์ กล่าวว่า ตนเองมีความสนใจในเรื่องของการจัดการขยะ และมองเห็นว่า ขยะบางอย่างเมื่อทิ้งไปก็มีคนมารอซื้อ แสดงว่าขยะต้องมีค่าอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะขยะที่ติดอยู่ตามโรงงาน หรือของเหลือตามโรงงาน จึงมองว่าจุดนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดี ประกอบกับเคยมีโอกาสทำสตาร์ทอัพมาก่อน จึงนำเอากลไกการสร้างตลาดของสตาร์ทอัพมาประยุกต์ใช้กับกระบวนการจัดการของเหลือในอุตสาหกรรม เริ่มเซ็ตอัพธุรกิจตามแนวทางของการทำ Lean Startup และใช้เงินลงทุนอย่างพอเหมาะ หรือใช้เงินให้น้อยที่สุด ถ้ามีของฟรีให้ใช้ก็ใช้ของฟรี โดยใช้เน็ตเวิร์คที่มี ทุกๆ อย่างค่อยๆ ทำไปทีละสเต็ป เช่น การทำเว็บไซต์ ที่ผ่านกระบวนการทางความคิดมาแล้วว่า จะออกแบบเอง หรือจะใช้โซลูชั่น หน้าตาเว็บไซต์แบบไหนที่คนจะสนใจ หรืออยากกดเข้ามาดู

คุณธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ กล่าวว่า Moreloop เริ่มต้นจากเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท ที่ได้จากการประกวดงานในหัวข้อนวัตกรรมทางสังคมของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ในหัวข้อนวัตกรรมทางสังคม และเมื่อมีโอกาสได้เข้าร่วมโปรแกรม Incubation “Banpu Champions for Change” ของบ้านปู ก็กลายเป็นจุดผลักดันให้ Moreloop ก้าวเดินไปข้างหน้าได้เร็วยิ่งขึ้น บนแนวทางการทำธุรกิจที่ชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิม 

“การเข้าร่วมโปรแกรม Incubation กับบ้านปู ทำให้เรา Spin Off ได้เร็วขึ้น ธุรกิจที่เราทำเป็นเรื่องของการบริหารจัดการขยะเราก็คิดว่าเราเป็น Social Enterprise ด้วยการรวบรวมผ้าดีๆ ที่หลากหลาย และคุณภาพส่งออก มาให้กับแบรนด์ หรือดีไซเนอร์ได้ใช้ เป็นการเปิดโอกาสธุรกิจให้คนอื่นได้ต่อยอด พอได้เข้าร่วมโปรแกรมข้อดีคือเราจะได้รับคำถาม และมุมมองจากคนอื่น ทำให้ได้คำตอบว่า สิ่งที่เราคิดมันยังไม่ชัดเจน และยังไม่เกิด Social Impact อย่างแท้จริง เราจึงกลับมามองในมุมของเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และการไม่ผลิตใหม่ที่ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ซึ่งการผลิตผ้าปล่อยคาร์บอนออกมาเยอะมาก ดังนั้นถ้าเราใช้ผ้าของ Moreloop ทำให้ไม่ต้องผลิตผ้าใหม่ เราก็จะช่วยลดการเกิดคาร์บอนได้

คุณอมรพล กล่าวเสริมว่า หลังการเข้าร่วมโครงการ Incubation กับบ้านปู Moreloop ก็มีโอกาสได้ออกบูธในช่วงปลายปี 2561 ด้วยการผลิตเสื้อจากผ้าเหลือที่มีอยู่ในสต๊อก โดยเลือกใช้ผ้าชนิดพิเศษที่มีอยู่ พร้อมกับจัดทำตัวอย่างผ้าเป็นรูปเล่มเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้สัมผัสเนื้อผ้าที่มีอยู่ และได้เห็นว่า ผ้าเหลือ หรือ ผ้า Dead Stock ไม่ใช่เศษผ้าแต่ยังสามารถนำมาผลิตเป็นเสื้อแบบที่นำมาจำหน่ายได้ พร้อมกับสื่อสารให้เห็นว่า เสื้อที่ผลิตมาจากผ้าที่ไม่ต้องผลิตใหม่ สามารถช่วยลดลดคาร์บอนได้อีกด้วย การออกบูธทำให้ชื่อของ Moreloop เป็นที่รู้จักมากขึ้น และได้รับความสนใจจากองค์กรใหญ่อย่าง JIB หรือ SCG

“จากเดิมที่เราสามารถระบายผ้าในสต๊อกได้ถึง 600 กิโลกรัม ในปี 2561 เราก็จบปี 2562 ด้วยการระบายสต๊อกได้ถึง 10,000 กิโลกรัม หรือ 10 ตัน รายได้เริ่มเข้ามา ทำให้เราได้เรียนรู้ในการควบคุมการทำงานได้มากขึ้น เริ่มเป็นธุรกิจมากขึ้น มีเงินสำรองมากขึ้น” คุณธมลวรรณ กล่าว พร้อมกับให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

ปัญหาและอุปสรรคที่ผ่านมา โดยหลักๆ คือ เรื่องของการสื่อสาร และ Mindset ของกลุ่มเป้าหมายที่ยังคิดว่า ผ้าเหลือ คือเศษผ้าชิ้นเล็ก แต่ในความเป็นจริง คือ เป็นผ้าพับ หรือผ้าม้วนใหญ่ๆ ที่ยังสามารถนำมาผลิตสินค้าได้ รวมถึงการสร้างความเข้าใจว่าทำไม การเลือกใช้ผ้าของ Moreloop จึงสามารถช่วยลดปัญหาที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของระยะเวลาในการผลิต ที่บางครั้งลูกค้าต้องการงานด่วน แต่วัตถุดิบมีจำกัดจึงไม่ตอบโจทย์ ทำให้เสียโอกาสในการรับออเดอร์นั้นๆ 

ปัจจุบัน Moreloop มีผ้าเหลือจากโรงงานอยู่ในระบบดาต้าเบสประมาณ 7.5 แสนหมื่นหลา ประมาณ 3,000 เอสเคยู จากโรงงานกว่า 60 แห่งทั่วประเทศ ที่อยู่ในเครือข่าย โดยในปี 2562 ทาง Moreloop ได้เริ่มต้นเก็บข้อมูลจากโรงงาน 5 แห่ง ต่อมาก็เริ่มมีโรงงานอื่นๆ ติดต่อเข้ามา เพื่อนำผ้ามาลงบนแพลตฟอร์ม 

ในอนาคต Moreloop ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายใน 5 ปี นับจากเปิดดำเนินกิจการ (ปลายปี 2018) จะต้องลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 1 ล้านกิโลคาร์บอน ปัจจุบันทำได้แล้วประมาณ 3 แสนกิโลคาร์บอน (กันยายน 2020) โดยทุกคนมีส่วนร่วมกับเป้าหมายนี้ได้หมด คือ มาซื้อผ้ากับเรา มาผลิตสินค้ากับเรา ซึ่งหากเรามีดีลใหญ่ๆ เข้ามาก็จะช่วยให้เราถึงเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น” คุณธมลวรรณ กล่าวย้ำ

Moreloop ให้คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการใหม่ สิ่งที่ควรทำอย่างแรก คือ ต้องวิเคราะห์จุดอ่อน และจุดแข็งของตัวเองให้ได้ก่อนว่าคืออะไร ควรเลือกทำในสิ่งที่ถนัด Don’t Wait ทุกคนสามารถเป็นผู้ประกอบการได้ แค่ว่าต้องออกไปเผชิญหน้ากับอุปสรรคทันที Do Take care ดูแลตัวเองให้มากๆ เพราะการเป็นผู้ประกอบการค่อนข้างเหนื่อย และงานหนัก จึงอยากให้ผู้ประกอบการทุกคนดูแลตัวเองให้ดีก่อน สุดท้ายคือ หัวใจสำคัญของการขยายธุรกิจ จะเชื่อมโยงกับ 2 เรื่อง คือ ระบบที่ต้องพัฒนา และคนที่ต้องพัฒนา เป็นเรื่องของการเรียนรู้ในทักษะใหม่ๆ เป็นการเรียนรู้เพื่อให้สามารถขยายฐานตลาดเกิดขึ้นได้จริงๆ  

                                                                  แพลตฟอร์ม Moreloop : https://moreloop.ws/

อ้างอิง: https://www.smeone.info/posts/view/4571
           https://moreloop.ws/